top of page

ประวัติวัดเสมียนนารี  พระอารามหลวง

วัดเสมียนนารี  พระอารามหลวง

              "วัดเสมียนนารี" ตามบันทึกของกรมการศาสนาบันทึกไว้ว่าได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๐๐ ตรงกับปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จ

พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โดยท่านผู้ริเริ่มสร้างวัดเป็นสตรีในวังมีตำแหน่งเป็นเสมียนฝ่ายพระคลังในนามว่า “ท่านเสมียนขำ” ท่านเสมียนขำเป็นธิดาของพระยาวิเศษภักดี เจ้าเมืองสงขลาคนที่ ๓  (เถี้ยนจ๋ง ณ สงขลา) มารดาของท่านคือ ท่านสุด

 

         ท่านเสมียนขำ ได้สร้างวัดขึ้นมาและได้ทำนุบำรุงวัดมาในเบื้องต้น จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิตและเมื่อท่านได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว เจ้าจอมเพิ่ม รัตนทัศนีย์ (ในกาลต่อมาก็คือท้าวภัณฑสารนุรักษ์) ซึ่งเป็นกวีเอกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงยกขึ้นเป็นเจ้าจอมอยู่งาน ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาจนกระทั่งสิ้นสุดรัชสมัย เป็นเวลา ๕๕ ปี หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว ก็ได้รับราชการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อไป จนกระทั่งถึงปีกุน ร.ศ. ๑๓๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้เป็น “ท้าวภัณฑสารนุรักษ์” ตำแหน่งพระคลังใน ได้ปฏิบัติหน้าที่มาจนถึงรัชสมัยล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านมีอายุยืนยาวมาจนถึง ๙๔ ปี ท่านได้ทำหน้าที่

ทั้งในส่วนราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณมาจนถึง ๖ รัชกาล และได้เป็นผู้ทำนุบำรุงรักษาวัดแคราย คือ วัดเสมียนนารีในกาลต่อมาจากท่านเสมียนขำ ผู้เป็นมารดา มีผู้สูงอายุได้เล่าฝากไว้ว่า    ท่านท้าวภัณฑสารนุรักษ์ เป็นผู้มีจิตศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง เคยนำคุณศรัทธาจากข้าราชการ

ในราชสำนักมาทอดกฐิน ณ วัดเสมียนนารี แห่งนี้ และยังเป็นผู้ที่มีเมตตาจัดแจงเงินแจกเป็นทานแก่ผู้มาร่วมในการทอดกฐินที่วัดแห่งนี้ โดยการนำคณะเดินทางมาทางเรือ อาศัยคลองเปรมประชากร ซึ่งเป็นคลองที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้มีการขุด นับเป็นประโยชน์ต่อการคมนาคมในครั้งนั้น ซึ่งได้ใช้การสัญจรทางเรือเป็นหลัก

    วัดแคราย ในกาลต่อมา ได้มีการตั้งชื่อเพื่อให้สอดคล้องกับท่านผู้มีอุปการคุณริเริ่มก่อสร้างในเบื้องต้น และเพื่อเป็นเกียรติประวัติเชิดชูแก่ท่านทั้งสอง จากนั้นวัดแคราย จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดเสมียนนารี” เป็นวัดที่เสมียนซึ่งเป็นผู้หญิงริเริ่มก่อสร้าง จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

   และต่อมาเมื่อครามงคลสมัยเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๗ รอบ ๘๔ พรรษา ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ยกวัดเสมียนนารี ซึ่งมีสถานะเป็นวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ นับเป็นเกียรติประวัติ และเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่วัด และพุทธศาสนิกชน คณะอุบาสก อุบาสิกา ชาววัดเสมียนนารี เป็นอย่างสูงยิ่ง

ทั้งนี้ กว่าจะเป็นวัดเสมียนนารี ที่มีความงดงาม พระอารามโดดเด่น

มีเสนาสนะที่ถูกสร้างด้วยศิลปกรรมอันประณีต เช่น พระอุโบสถ

ศาลาการเปรียญ พระบรมธาตุเจดีย์ศรีธรรมรัตน์ วิหารประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ หลวงพ่อพระพุทธสุโขอภิโรจนะ ซึ่งเป็นพระประธานในพระอุโบสถหลังเก่า หลวงพ่อพระพุทธโสธร (องค์จำลอง) หลวงพ่อทันใจ หลวงพ่อพระศรีศากยพุทธวงศ์มุนี   พระประธาน (องค์พระพุทธชินราชจำลอง ขนาดหน้าตัก

๔ ศอก ๙ นิ้ว) พระพุทธรัตนมุนีศรีศากยวงศ์ ซึ่งมีความสง่างามด้วยพุทธศิลป์ เป็นที่เคารพกราบไว้บูชาแห่งมวลพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างยิ่ง

         นอกจากนั้นวัดเสมียนนารี พระอารามหลวง ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๙ เพื่อมาประดิษฐานเป็นการถาวรมีพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับเมตตาจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ฯ ได้ประทานให้ถึง ๒ วาระ

และพระบรมสารีริกธาตุที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติงานเเทนสมเด็จพระสังฆราช

ได้ประทานมาไว้เพื่อประดิษฐานที่องค์พระเจดีย์และเมื่อครั้งวัดเสมียนนารี

ได้รื้อเจดีย์องค์เก่าซึ่งชำรุดทรุดโทรมลงไปและยังได้พบผอบทองคำ ภายใน

บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อยู่ ๒ องค์ พระเดชพระคุณพระเทพวรสิทธาจารย์

ซึ่งในขณะดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครูอุทัยธรรมรัตน์ และเป็นเจ้าอาวาส

วัดเสมียนนารี ได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ภายในพระอุโบสถหลังใหม่

เพื่อให้ท่านพุทธศาสนิกชนได้นมัสการกราบไหว้  ถวายสักการะบูชา  กระทั่งปัจจุบันได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานเป็นการถาวร  ณ  พระบรมธาตุเจดีย์

ศรีธรรมรัตน์ เมื่อวันที่ ๒๖  พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๕  เป็นต้นมา

วัดเสมียนนารี

ที่ตั้งวัดเสมียนนารี  พระอารามหลวง

              วัดเสมียนนารี ตั้งอยู่เลขที่ ๓๒ ถนนกำแพงเพชร ๖ แขวลาดยาว

เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่วัดทั้งหมดจำนวน ๑๘ ไร่ ๙๐ ตารางวา

         ทิศเหนือ เป็นที่ตั้งของโรงเรียนวัดเสมียนนารี มีพื้นที่ติดกับที่ของเอกชน

         ทิศใต้ ติดถนนเทศบาลสงเคราะห์ ถนนเชื่อมต่อไปที่ถนนประชาชื่น

         ทิศตะวันออก ติดกับถนนกำแพงเพชร ๖ และทางรถไฟฟ้าสายสีแดง

สายเหนือและสายอีสาน

         ทิศตะวันตก ติดกับคลองเปรมประชากร คลองประวัติศาสตร์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระราชทานให้ขุดเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้ใช้เป็นทางสัญจรไปมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถึงพระราชวังดุสิต กรุงเทพฯ

bottom of page